ข้อเข่าเสื่อม

20 ก.ค. 2566 | เขียนโดย นพ.ณพัชร ณ ตะกั่วทุ่ง แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

มีรายงานพบว่าทุก 1 กิโลกรัมของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เข่าของคุณต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น 3-4 กิโลกรัม



โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดเมื่อตัวรองรับแรงตามธรรมชาติอย่างกระดูกอ่อนเกิดการสึกหรอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว กระดูกของข้อเข่าจะเกิดการเสียดสีกันโดยที่ไม่มีกระดูกอ่อนมารองรับแรง การเสียดสีนี้เองที่ทำให้เกิดอาการปวด บวม ข้อติดขัด เหยียดงอได้น้อยลง หรือเกิดกระดูกงอกขึ้นมา

 

สาเหตุ

โรคข้อเสื่อม เกิดเมื่อกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่รับแรงกระแทกของกระดูก 2 ชิ้น และทำให้การเคลื่อนไหวมีแรงเสียดทานที่ต่ำ ค่อย ๆ สลายเสื่อมสภาพ ร่วมกับการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อกระดูกอ่อนสลายจนหมด กระดูกจะต้องสีกันเอง และเกิดการสึกหรอของกระดูกตามมา ผิวของกระดูกอ่อนที่ไม่เรียบก็จะทำให้มีเสียงดังเวลาขยับข้อเข่า เมื่อเป็นมากขึ้นทำให้เริ่มมีอาการเข่าโก่ง หากปวดและเดินได้น้อยลง กล้ามเนื้อรอบเข่าจะมีขนาดเล็กลงไปอีก ทำให้เหยียดงอ เข่าได้น้อยลง

 

โดยทั่วไป โรคข้อเข่าเสื่อมมักหมายถึงการสลายของกระดูกอ่อน แต่แท้ที่จริงแล้วนอกเหนือจากนี้ การเสื่อมนี้ยังรวมไปถึงกระดูก เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่บนกระดูกนั้น ๆ ด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อข้อเข่ามากขึ้น จะมีการสร้างน้ำข้อเข่ามากขึ้น ทำให้มีการบวมตึง

 

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุ : เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด ความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากกระดูกอ่อนจะมีความสามารถในการฟื้นฟูที่ลดลงตามวัย โดยทั่วไปโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมจะมากขึ้นหลังจากอายุ 45 ปี โดยจากสถิติที่อายุ 60 ปี จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
  • เพศ : เพศหญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย ซึ่งรายงานว่าอาจจะเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนที่ไม่เท่ากัน
  • ความอ้วน : น้ำหนักที่เยอะจะทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงมากขึ้น มีรายงานพบว่าทุก 1 กิโลกรัม ที่เพิ่มขึ้นทำให้เข่าของคุณรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น 3-4 กิโลกรัม นอกจากนี้ ชั้นไขมันยังหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบออกมาทำลายข้อเข่าได้อีกด้วย
  • การใช้งาน : ในบางอาชีพหรือกีฬาบางชนิดที่ต้องใช้แรงส่งผ่านข้อเข่ามาก ทำให้เกิดความเครียดต่อกระดูกอ่อน ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างกิจกรรม ได้แก่ คุกเข่า นั่งยอง ๆ ยกของหนัก (มากกว่า 25 กิโลกรัม)
  • พันธุกรรม :ยีนบางตัวที่ส่งผลให้เกิดข้อเสื่อมมากขึ้น สาเหตุอาจเนี่องจากยีนบางยีนมีผลต่อรูปร่างของกระดูกรอบข้อเข่า ซึ่งจะพบในการเสื่อมของข้อนิ้วมือมากกว่าข้อเข่า
  • การบาดเจ็บของข้อ : เมื่อมีการบาดเจ็บของข้อเข่า จะมีการอักเสบ และทำให้กระดูกอ่อนสลายมากขึ้น รวมถึงเมื่อเส้นเอ็นของข้อเข่าขาดที่ทำให้ข้อเข่าหลวม ส่งผลให้มีการบาดเจ็บที่เรื้อรังต่อไปได้
  • ความผิดปกติของกระดูก : การผิดรูป หรือโครงสร้างของกระดูกผิดไป ทำให้แนวแรงที่มาลงผิดปกติ
  • โรคทางเมตาบอลิก : การมีสารที่ผิดปกติไปทำให้กระดูกอ่อนเกิดการเสื่อมสลายได้ เช่น โรคเบาหวาน, โรคเหล็กเกิน, โรคฮอร์โมนการเจริญเติบโตเกิน, โรครูมาตอยด์

 

อาการ

โรคข้อเข่าเสื่อม มักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยอาการที่พบ ได้แก่

  • ปวด : เป็นอาการที่พบบ่อยมากที่สุด มักจะมีอาการปวดขณะหรือภายหลังการขยับเคลื่อนที่ โดยเฉพาะการเดินขึ้นลงบันได นั่งยอง ๆ อาการปวดจะดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อพัก โดยทั่วไปอาการจะเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือน
  • ฝืด : มักเป็นมากตอนตื่นนอน หรือไม่ขยับเป็นเวลานาน แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากขยับ
  • กดเจ็บ : มักกดเจ็บบริเวณข้อต่อของเข่าด้านในหรือด้านนอก
  • สูญเสียความยืดหยุ่น : จะมีอาการเหยียดงอเข่าได้ไม่สุดเหมือนแต่ก่อน ทำให้มีปัญหาเวลาลุกนั่ง หรือขึ้นลงบันได
  • มีเสียงในข้อเข่า : อาจจะมีเสียงกรอบแกรบเวลาใช้งานข้อเข่า เนื่องจากเวลาข้อสึกจะมีการเสียดสีกับเยื่อบุข้อและเส้นเอ็นที่หนาตัวขึ้น
  • กระดูกงอก : อาจคลำพบก้อนนูนแข็งรอบ ๆ ข้อ
  • ผิดรูป : เมื่อกระดูกเสื่อมมากขึ้น ทำให้มีการผิดรูปของข้อเข่า อาจจะโก่งด้านนอกหรือด้านในก็ได้ ทำให้ขาสั้นลง และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • บวม อุ่น : มีสาเหตุมาจากการอักเสบของข้อ

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยจะเริ่มจากการรวบรวมประวัติ การตรวจร่างกาย รวมถึงประวัติข้ออักเสบในครอบครัว โดยแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

  • Xrays :จะบ่งบอกลักษณะกระดูก และกระดูกอ่อนที่สึกหรอได้ รวมถึงปุ่มกระดูกที่งอกเพิ่มขึ้นมา
  • MRI: จะตรวจเมื่อ X-rays ไม่สามารถบอกสาเหตุของการเจ็บข้อเข่าได้ชัดเจน
  • เจาะเลือด : เพื่อหาสาเหตุของข้ออักเสบนอกเหนือจากข้อเสื่อม เช่น รูมาตอยด์, ข้ออักเสบอื่น ๆ ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน

 

การรักษา

เป้าหมายของการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมคือ ลดอาการปวดและกลับไปเหยียดงอเข่าได้ ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่

 

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

  • ลดน้ำหนัก : เนื่องจากเป็นการลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่าโดยตรง การลดน้ำหนักแม้เพียงเล็กน้อย (5%) สามารถลดอาการปวดข้อเข่าได้
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง : ไม่ควรยืนหรือนั่งท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน, ไม่ควรทำกิจกรรมที่งอเข่ามากกว่า 90 องศา เป็นเวลานาน
  • ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อรอบเข่า ทำให้ข้อเข่ามั่นคงและลดอาการปวดได้ ส่วนการออกกำลังกายแบบยืดเหยียด ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นแก่ข้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ควรออกกำลังตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากการออกกำลังกายในผู้ป่วยแต่ละรายต่างกันไปตามปัจจัยที่ต้องคำนึง เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค เป็นต้น
  • การใช้ผ้ารัดเข่า : ควรใช้โดยการควบคุมของแพทย์ เนื่องจากการใช้เป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการที่ไม่ได้ถูกใช้งานได้
  • การใช้ไม้เท้า : จะช่วยลดแรงที่กระทำต่อเข่า และทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • การรักษาทางเลือก : มีบางรายงานที่สนับสนุนประสิทธิภาพของการรักษาทางเลือก ได้แก่ การใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของแคปไซซิน, การฝังเข็ม, การทำอัลตราซาวน์, การใช้เลเซอร์รักษา เป็นต้น

การรักษาแบบใช้ยา

  • ยาชะลอการเสื่อมของข้อ : สามารถชะลอการสลายของกระดูกอ่อนได้ แต่ฤทธิ์ลดการอักเสบยังไม่แน่ชัด
  • ยาแก้ปวด : ลดอาการปวดโดยที่ไม่ได้ลดอาการอักเสบ
  • ยาแก้อักเสบ : มีหลายกลุ่ม แต่ไม่ควรซื้อยาทานเอง และไม่ควรทานยาเกิน 10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ หากอาการไม่มาก แนะนำให้ใช้ชนิดทาภายนอก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากยาชนิดรับประทาน เช่น พิษต่อไต, พิษต่อระบบหัวใจ, ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
  • ยาฉีดเข้าข้อ : มีหลายกลุ่ม เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารลดการอักเสบ, กรดไฮยารูลอนิค ที่เป็นสารหล่อลื่นข้อ เป็นต้น

 

การผ่าตัด

  • การส่องกล้อง : เป็นการใช้กล้องและอุปกรณ์ขนาดเล็กส่องเข้าไปในข้อเข่า โดยเจาะรูแผลเป็นทางเข้า หลังจากนั้น แพทย์จะนำกระดูกอ่อนที่สึกหรอ หรือเศษวัตถุที่หลุดลอยออกไป จากนั้นทำความสะอาดผิวกระดูก และซ่อมแซมส่วนของเนื้อเยื่อที่เสียหาย โดยทั่วไปการผ่าตัดประเภทนี้มักทำในคนที่อายุน้อย (<55 ปี) เพื่อที่จะรักษาข้อธรรมชาติไว้ หรือชะลอการผ่าตัดที่รุนแรงกว่า
  • การเปลี่ยนแนวกระดูก : มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแนวของข้อเข่า โดยผ่าตัดเปลี่ยนรูปร่างของกระดูก ซึ่งการผ่าตัดประเภทนี้ แนะนำในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อย ต้องการใช้งานข้อเข่าค่อนข้างมาก และข้อเข่าเสื่อมเพียงหนึ่งฝั่ง
  • การเปลี่ยนข้อเข่าเทียม : เป็นการนำส่วนของกระดูกที่เสียหายออก และแทนที่ด้วยส่วนเทียมที่มาจากเหล็ก และพลาสติก การเปลี่ยนสามารถทำเพียง 1 ฝั่งของเข่า หรือทั้งเข่าเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสียหายของข้อเข่าที่พบขณะผ่าตัด โดยทั่วไปจะใช้วิธีนี้ในคนไข้ที่อายุมากกว่า 50 ปี

 

ปรึกษาแพทย์ชำนาญการศูนย์กระดูกและข้อ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์
โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์
โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ

แพ็กเกจกระดูกและข้อ
แพ็กเกจฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อฉีด 5 เข็ม
ราคา
31,000 ฿
โปรแกรมศูนย์กระดูกและข้อ
แพ็กเกจฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า P.2
ราคา
21,000 ฿
แพ็กเกจผ่าตัดและผ่าตัดส่องกล้อง
แพ็กเกจผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 1 ข้าง (TKA)
ราคา
219,000 ฿