วิธีสังเกตอัมพฤกษ์และอัมพาต รู้ไว รักษาได้

10 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

รู้ถึงความแตกต่างของอัมพฤกษ์และอัมพาต รวมถึงการหมั่นสังเกตอาการอย่างเข้าใจ เนื่องจากหากรู้ได้ไว พบแพทย์ได้ทันท่วงที ย่อมมีโอกาสรักษาได้



เพราะปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และตรวจสอบความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด ในบทความนี้ จะมาสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมหันตภัยใกล้ตัว อย่างโรคอัมพฤกษ์และอัมพาต ว่ามีอาการอย่างไร และไปเข้าใจถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และสัญญาณเตือน เพื่อให้ทุกคนได้เฝ้าระวังกันมากขึ้น

 

อาการอัมพฤกษ์-อัมพาต แตกต่างกันอย่างไร ?

 

  • อัมพฤกษ์ คือภาวะที่แขนหรือขามีอาการอ่อนแรง แต่สามารถใช้งานได้ มีความรู้สึกชาตามอวัยวะต่าง ๆ เป็นครั้งคราว
  • อัมพาต คือภาวะที่แขนหรือขา ไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงไม่สามารถขยับร่างกายได้เช่นกัน

 

อัมพฤกษ์-อัมพาต มีสาเหตุมาจากอะไร ?

 

อัมพฤกษ์-อัมพาต หรือ Cerebrovascular Accident (CVA) มีสาเหตุหลักมาจากโรคที่เกี่ยวกับสมอง ได้แก่ หลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดสมองตัน หลอดเลือดสมองแตก ส่งผลให้เลือดเดินทางไปหล่อเลี้ยงเซลล์สมองได้ไม่เพียงพอ ทำให้สมองขาดเลือด จนเซลล์สมองเสียหายในที่สุด

 

อัมพฤกษ์-อัมพาต มีอาการอย่างไร ?

 

สำหรับอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตเบื้องต้น ที่สามารถพบได้มีดังต่อไปนี้

 

  • อัมพฤกษ์ เกิดขึ้นจากการที่เซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วบางส่วน ส่งผลให้มีอาการแขนขาอ่อนแรง ตาพร่ามัว สูญเสียความทรงจำ มีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย รวมไปถึงความสามารถในการตัดสินใจ หรือการคิดคำนวณที่ลดน้อยลง
  • อัมพาต เกิดขึ้นจากการที่เซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วอย่างถาวร แขนขาไม่สามารถขยับได้ พูดไม่ได้ กล้ามเนื้อบนใบหน้าทำงานไม่เท่ากัน จึงทำให้หนังตาตก ปากเบี้ยว และตอบสนองช้า

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์-อัมพาต

 

  • อายุที่มากขึ้น ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่หลอดเลือดสมอง ที่จะเสื่อมสภาพ เกิดคราบไขมันอุดตัน ความยืดหยุ่นลดลง ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน ตีบ และแตก นำไปสู่อาการอัมพฤกษ์-อัมพาตได้
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เสี่ยงที่จะเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดสมอง และมีการอุดตันได้เร็วขึ้น ทั้งยังเปราะและแตกง่ายขึ้นอีกด้วย
  • ภาวะอ้วน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย
  • สูบบุหรี่ ซึ่งสารต่าง ๆ ที่อยู่ในบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งหรือบางลง เสี่ยงต่อการเปราะ และปริแตกได้ง่าย
  • ขาดการออกกำลังกาย ส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกัน

 

BE-FAST สัญญาณเตือนอัมพฤกษ์-อัมพาต ที่ต้องรีบรักษา

 

  • B ย่อมาจาก Balance หมายถึง ผู้ป่วยเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะ เดินเซ เสียการทรงตัว
  • E ย่อมาจาก Eye หมายถึง มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือเริ่มมองไม่ชัด ไม่เห็นอย่างฉับพลัน
  • F ย่อมาจาก Face Drooping หมายถึง ผู้ป่วยเริ่มมีใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว หรืออ่อนแรง จนไม่สามารถยิ้มหรือขยับปากได้ หนังตาตก หรือมุมปากตก
  • A ย่อมาจาก Arm Weakness หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรง ไม่สามารถยกแขนได้ รวมถึงแขนดูห้อยตกกว่าปกติ
  • S ย่อมาจาก Speech Difficulties หมายถึง ผู้ป่วยพูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือไม่สามารถพูดประโยคยาว หรือประโยคที่มีความซับซ้อนได้ หรือผู้ป่วยพยายามพูดแล้วแต่กลายเป็นเสียงแปลก ๆ แทน
  • T ย่อมาจาก Time to Call หมายถึง ความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นตามมาได้อย่างรวดเร็ว จึงควรต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง เพราะถ้าหากช้าไปกว่านั้น จะมีความเสี่ยงต่อการพิการหรือเสียชีวิตได้

 

ผู้ชายเข็ดรถให้ผู้หญิงแก่ที่ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์

วิธีรักษาอัมพฤกษ์-อัมพาต

 

ในส่วนของวิธีรักษาอัมพฤกษ์-อัมพาต จะมีดังนี้

 

  • ผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์ใช้ในกรณีที่หลอดเลือดสมองแตก
  • ใส่สารอุดตันเข้าหลอดเลือด หรือหนีบเส้นเลือด เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์ใช้เมื่อมีหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  • รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ตามคำสั่งแพทย์ เมื่อมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • ควบคุมโรคต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
  • กายภาพบำบัด เพื่อการฟื้นฟูกล้ามเนื้อทั้งแขนและขา รวมถึงการฝึกพูด

 

แนวทางการป้องกันอัมพฤกษ์-อัมพาต

 

อัมพฤกษ์-อัมพาตเป็นภาวะร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้

 

  • หมั่นตรวจสุขภาพ เนื่องจากการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญในการเฝ้าระวังและควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด การตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่อัมพฤกษ์-อัมพาตได้
  • ออกกำลังกาย ช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยควรออกอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ วันละประมาณ 30 นาที
  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์ ควรรับประทานปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
  • ลดการรับประทานของหวาน เนื่องจากน้ำตาลส่วนเกินในร่างกาย สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตได้
  • การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย

 

หากพบสัญญาณเตือนของอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต เบื้องต้น อย่านิ่งนอนใจ รีบเข้ามารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา โรงพยาบาลระบบประสาทและสมอง ที่มีแพทย์เฉพาะทางพร้อมให้การดูแล นัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ