ภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียง-กระดูกเท้าปูด รักษาและป้องกันยังไง ?

10 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียง-กระดูกเท้าปูด ก่อให้เกิดอาการเจ็บ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ มารู้จักสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และป้องกันภาวะกระดูกเท้าปูดที่นี่



ภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียง หรือกระดูกเท้าปูดที่ทำให้เท้าดูผิดรูปเกิดจากอะไร มีผลกระทบอย่างไรต่อการใช้ชีวิตบ้าง รวมถึงจะมีแนวทางการรักษาและป้องกันด้วยวิธีใด บทความนี้มีคำตอบมาให้

 

ลักษณะของภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง-ปูด

 

ภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง หรือ Hallux Valgus เป็นความผิดปกติของโครงสร้างเท้าที่ทำให้นิ้วโป้งเท้าเอียงไปทางนิ้วชี้ และทำให้กระดูกฐานนิ้วโป้งด้านในเท้ายื่นออกมา จนสามารถสังเกตเห็นเป็นปุ่มนูนที่บริเวณโคนนิ้วโป้ง

 

โดยภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียงและกระดูกเท้าปูดมีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ

 

  • นิ้วโป้งเท้าเอียงไปทางนิ้วชี้
  • มีปุ่มกระดูกนูนออกมาที่ฐานนิ้วโป้งด้านใน
  • ผิวหนังบริเวณปุ่มกระดูกอาจมีการอักเสบ แดง และบวม
  • อาจมีอาการปวดเมื่อสวมรองเท้าหรือเดินเป็นเวลานาน

 

ภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง-ปูดพบได้บ่อยแค่ไหน ?

 

ภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง หรือปูดสามารถพบได้บ่อย สูงถึงประมาณ 10-15% ในประชาชนทั่วไป และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

 

สาเหตุของภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง-ปูด

 

พันธุกรรม

 

เนื่องจากกระดูกเท้าปูดเป็นลักษณะของกระดูก และโครงสร้างเท้าที่ผิดปกติ หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงหรือปูดได้มากขึ้น

 

การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม

 

การสวมรองเท้าที่มีหน้าเท้าแคบ หรือรองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ทำให้นิ้วเท้าถูกบีบและกดทับ ส่งผลให้นิ้วโป้งเท้าค่อย ๆ เอียงไปทางนิ้วชี้

 

การบาดเจ็บ

 

อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณนิ้วโป้งเท้าหรือข้อต่อฐานนิ้วโป้ง อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและทำให้เกิดภาวะนี้ได้

 

โรคข้ออักเสบ

 

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเก๊าท์สามารถทำให้เกิดการอักเสบ จนข้อต่อเกิดการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่ภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียงในที่สุด

 

ภาวะกระดูกเท้าปูดทำให้มีปัญหาในการสวมรองเท้า

อาการ และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่มีภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง-ปูด

 

อาการปวด และอักเสบ

 

อาการปวด และอาการอักเสบ เป็นอาการที่พบได้บ่อยสำหรับผู้ที่มีกระดูกเท้าปูด หรือนิ้วโป้งเท้าเอียง โดยมักมีอาการปวด บวม แดง และร้อน บริเวณปุ่มกระดูกที่ยื่นออกมาเมื่อสวมรองเท้าที่คับหรือเดินเป็นเวลานาน

 

เคลื่อนไหวลำบาก

 

หากมีภาวะกระดูกเท้าปูด อาจมีความลำบากในการเคลื่อนไหวนิ้วโป้งเท้า ซึ่งจะส่งผลต่อการทรงตัว และการเดิน และอาจทำให้เกิดปัญหาการทำงานหากทำอาชีพที่ต้องยืน หรือเดินเป็นเวลานานเพราะจะเกิดความไม่สบาย และอาการปวด อีกทั้งยังออกกำลังกายได้ยากอีกด้วย

 

มีปัญหาในการสวมรองเท้า

 

เนื่องจากมีปุ่มกระดูกที่ยื่นออกมา ทำให้การหารองเท้าที่พอดีและสวมใส่สบายอาจเป็นเรื่องยาก และหากใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอาการปวดที่ปุ่มกระดูกได้ด้วย

 

ผลกระทบทางจิตใจ

 

ภาวะกระดูกเท้าปูดอาจสร้างผลกระทบทางจิตใจได้ เพราะบางคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ของเท้าตนเองที่ส่งผลต่อการเลือกรองเท้า และการแต่งกาย

 

ภาวะแทรกซ้อน

 

หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะกระดูกเท้าปูดอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้ เช่น การเกิดแผลกดทับที่เกิดจากเล็บนิ้วโป้งจิกผิวหนัง และเนื้อของนิ้วชี้

 

แนวทางการรักษาภาวะกระดูกนิ้วเท้าเอียง

 

วิธีรักษากระดูกเท้าโปน หรือนิ้วเท้าเอียง แบ่งเป็น 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่

 

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

 

วิธีรักษานิ้วเท้าเอียงโดยไม่ผ่าตัด เป็นการลดอาการปวด และประคับประคองไม่ให้นิ้วเท้าเอียงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจใช้วิธีเหล่านี้

 

  1. เลือกสวมรองเท้าหน้ากว้าง และมีความนุ่ม เพื่อป้องกันการเสียดสีบริเวณปุ่มกระดูก
  2. การกินยาลดอักเสบ ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย
  3. การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยแยกนิ้วเท้าเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ที่เรียกว่า Gel Toe Spreader
  4. การทำกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการเจ็บ และลดโอกาสที่นิ้วโป้งจะเอียงเพิ่มขึ้น

การรักษาด้วยการผ่าตัด

 

หากกระดูกเท้าปูดรบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วย แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดปรับแนวกระดูกให้ปุ่มกระดูกที่ปูดออกมาหายไป และทำให้หน้าเท้าแคบลง ซึ่งแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะในรายที่จำเป็นเท่านั้น

 

การป้องกันภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียง

 

  1. เลือกรองเท้าที่เหมาะสม โดยเลือกสวมรองเท้าที่มีหน้าเท้ากว้างพอ ไม่บีบนิ้วเท้า และมีส้นไม่สูงเกินไป
  2. รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมเพื่อช่วยลดแรงกดทับที่เท้า
  3. ปรับเปลี่ยนท่าทางการยืนและเดิน โดยหลีกเลี่ยงการยืนในท่าเดียวนาน ๆ และฝึกเดินโดยกระจายน้ำหนักให้ทั่วทั้งเท้า
  4. นวดและยืดกล้ามเนื้อเท้าเป็นประจำเพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และลดความตึงของกล้ามเนื้อ
  5. พิจารณาใช้แผ่นรองฝ่าเท้าเพื่อช่วยพยุงเท้าหากมีปัญหาเท้าแบน หรือเท้าโก่ง
  6. คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเท้าและปรึกษาแพทย์หากพบความผิดปกติ

 

ภาวะกระดูกนิ้วโป้งเท้าเอียงรักษาได้ด้วยหลายวิธีทั้งผ่าตัด และไม่ต้องผ่าตัด หากมีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะนิ้วโป้งเท้าเอียง ปรึกษาหมอกระดูกผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทราได้เลย โดยสามารถนัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Call Center : 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ