ข้อเท้าพลิกนวดได้ไหม? แนะนำวิธีปฐมพยาบาลหลังข้อเท้าพลิก

23 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

หลังข้อเท้าพลิกสามารถนวดได้ไหม ? หรือควรรักษาด้วยวิธีใด มารู้ถึงวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นและวิธีประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมช้ำ และป้องกันไม่ให้กลับมาบาดเจ็บซ้ำ



“ข้อเท้าพลิก” เป็นหนึ่งในอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยหลังจากสะดุดล้มหรือได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการที่ข้อเท้าถูกบิดจนทำให้เอ็นข้อเท้าฉีกขาด ส่งผลให้เกิดอาการปวด บวม ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถเคลื่อนไหวเท้าหรือลุกนั่งได้ตามปกติ !

อาการที่ตามมาจากการบาดเจ็บข้อเท้า ล้วนสร้างความรำคาญและรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ หากมีการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดอาการปวดบวม และฟื้นฟูสภาพการทำงานของข้อเท้าให้กลับมาแข็งแรงได้เร็วยิ่งขึ้น แล้ววิธีไหนจะช่วยรักษาอาการข้อเท้าพลิกได้อย่างถูกต้อง จะใช้การนวดได้ไหม หรือควรประคบเย็นเพื่อช่วยฟื้นฟูอาการ บทความนี้จะมาบอกวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ได้รู้กัน ติดตามได้เลย

 

ข้อเท้าพลิกคืออะไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง ?

ข้อเท้าพลิก (Ankle Sprain) หมายถึง การบาดเจ็บของเอ็นหรือเส้นเอ็นยึดข้อเท้าที่เกิดจากการบิดหรือหมุนข้อเท้าในท่าที่ผิดปกติ จนทำให้เอ็นเหล่านั้นถูกดึงรั้งหรือฉีกขาด ส่งผลให้ข้อเท้าพลิกออกจากแนวปกติ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดข้อเท้าพลิกมีดังนี้

 

  • สะดุดหกล้ม หรือเหยียบพื้นผิดระดับ ทำให้น้ำหนักตัวกระแทกลงบนข้อเท้าในท่าผิดปกติ
  • การเล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวในลักษณะบิด เหวี่ยง หมุน หรือกระโดดรับน้ำหนักมาก เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ฟุตบอล เป็นต้น
  • วิ่งหรือเดินบนพื้นที่ขรุขระ ไม่เรียบ มีรอยแตก หรือมีหลุมบ่อ
  • สวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม ทำให้เท้าไม่มั่นคงและลื่นไถลง่าย
  • ข้อเท้าอ่อนแอจากการบาดเจ็บเรื้อรัง ทำให้ข้อเท้าพลิกได้ง่ายขึ้น

 

เมื่อเกิดเหตุข้อเท้าพลิก ควรปฐมพยาบาลอย่างไร ?

เมื่อเกิดอาการข้อเท้าพลิก การปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีจะช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บได้

 

1. พักการใช้งานข้อเท้า

หยุดการเคลื่อนไหวข้อเท้าทันที เพื่อไม่ให้การบาดเจ็บรุนแรงขึ้น หากจำเป็นต้องเดิน ให้ใช้ไม้ค้ำยันหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงน้ำหนักตัว

 

2. ประคบเย็น

ประคบด้วยถุงน้ำแข็งหรือผ้าเย็นที่บริเวณข้อเท้าที่บวม เพื่อลดอาการบวมและปวด ประคบสลับกับพักเป็นเวลา 15-20 นาทีต่อครั้ง

 

3. ยกเท้าสูง

ยกขาที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดการไหลเวียนเลือดมายังบริเวณที่บวม โดยอาจใช้วิธีวางหมอนรองรับใต้หลังน่องเพื่อให้ได้ระดับท่าที่สบาย

 

4. พันผ้ายืด

พันผ้ายืดรัดแน่นพอประมาณบริเวณข้อเท้า เพื่อกดอาการบวม แต่ระวังอย่าพันแน่นจนเกินไป เพราะอาจไปขัดขวางการไหลเวียนเลือดได้

 

ทั้งนี้ หลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป เช่น ตรวจเอกซเรย์บริเวณตำแหน่งที่บาดเจ็บ เพื่อดูว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ บางรายอาจต้องมีการตรวจ MRI เพื่อให้เห็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและเส้นเลือดบริเวณนั้น หรือใช้อุปกรณ์ดามข้อเท้าตามระดับความรุนแรง

 

ข้อเท้าพลิกสามารถนวดได้ไหม ?

ในกรณีที่ข้อเท้าพลิกหรือตาตุ่มบวม วิธีรักษาจะไม่แนะนำให้นวดข้อเท้าในระยะแรกที่เกิดอาการบาดเจ็บ เนื่องจากอาจทำให้มีอาการบวมและปวดรุนแรงตามมา รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อรอบข้อเท้ามากขึ้นด้วย

 

ข้อเท้าพลิกจนบวมต้องทำอย่างไร ?

โดยทั่วไป แนะนำให้ทำการปฐมพยาบาลด้วยการประคบเย็นและยกเท้าสูงอยู่เสมอ หากปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ได้ อาการบวมจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ดี หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5-7 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

 

ข้อเท้าพลิกควรประคบอย่างไร ?

การประคบเย็นอย่างถูกวิธีจะช่วยลดอาการบวมและบรรเทาอาการปวด โดยวิธีประคบเย็นที่ถูกต้อง มีดังนี้

 

  • เตรียมถุงน้ำแข็งหรือผ้าเย็น โดยนำผ้าชุบน้ำเย็นแล้วบิดให้หมาด ๆ
  • ห่อถุงน้ำแข็งด้วยผ้าผืนเล็ก หรือผ้าผืนเล็กชุบน้ำบิดหมาด เพื่อป้องกันการไหม้จากความเย็นจัด
  • ประคบถุงน้ำแข็งรอบ ๆ บริเวณข้อเท้าที่บวม โดยไม่ให้ถูกบริเวณข้อเท้าพลิกโดยตรง
  • รักษาระดับความเย็นให้คงที่ โดยเปลี่ยนถุงน้ำแข็งใหม่หรือแช่ผ้าในน้ำเย็นบ่อย ๆ
  • ประคบครั้งละ 15-20 นาที แล้วหยุดพักประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนประคบซ้ำ
  • ประคบเย็นเป็นระยะ ๆ วันละหลายครั้ง จนกระทั่งอาการบวมดีขึ้น

 

  การดูแลตัวเองหลังข้อเท้าพลิก

การดูแลหลังข้อเท้าพลิกจะช่วยฟื้นฟูและป้องกันไม่ให้อาการบาดเจ็บกลับมาเป็นซ้ำ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

 

  • ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าเป็นประจำ : การยืดกล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อเท้าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ลดการตึงเครียด และป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ
  • เพิ่มแรงกดที่ลงบนข้อเท้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป : หลีกเลี่ยงการออกแรงมากเกินไปทันที ให้ข้อเท้าได้ปรับสภาพก่อน โดยเริ่มจากการเดิน วิ่งเบา ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับความหนักขึ้นเมื่อข้อเท้าเริ่มแข็งแรงขึ้น
  • เลือกรองเท้าให้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงพื้นที่ขรุขระ : สวมรองเท้ากีฬาที่มีการรองรับข้อเท้าได้ดี กระชับพอดีกับขนาดเท้า และพื้นกันลื่น หลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นที่ขรุขระหรือไม่เรียบ เพื่อลดแรงกระแทกบนข้อเท้า

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังพันผ้ายืดบริเวณข้อเท้าเพื่อลดอาการบวมหลังข้อเท้าพลิก

เมื่อเกิดข้อเท้าพลิก ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นทันที หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพราะหากปล่อยเอาไว้ อาการบาดเจ็บอาจลุกลามได้ โดยสามารถเข้ามาตรวจวินิจฉัยได้ที่โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา เราเป็นโรงพยาบาลกระดูกและข้อที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้บริการ

 

เรามีเครื่องมือทันสมัยทั้งเอกซเรย์และการตรวจเอ็มอาร์ไอ เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณตลอด 24 ชั่วโมง

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ โทร. 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ