สาเหตุและวิธีแก้อาการใจสั่นเบื้องต้น รู้ก่อน ป้องกันทัน

23 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

มีอาการใจหวิว ๆ วูบ ๆ ใจสั่นแบบไม่ทราบสาเหตุต้องระวัง อาจเสี่ยงสารพัดโรค เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ ไทรอยด์เป็นพิษ และร่างกายมีการติดเชื้อ



เคยไหม นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ แต่ทำไมจึงรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือรู้สึกมีอาการใจหวิว ๆ วูบ ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะเหล่านี้โดยรวมแล้ว เรียกว่าอาการใจสั่น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่ควรปล่อยไว้ ควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง มิฉะนั้น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

แล้วอาการใจสั่นเป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง หากมีอาการหัวใจเต้นแรงหรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีวิธีแก้อย่างไร บทความนี้มีเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับภาวะนี้มาบอกกัน

 

อาการแบบไหนเรียกว่าใจสั่น?

อาการใจสั่น หรือ Palpitation เป็นอาการที่หัวใจเต้นแบบไม่สม่ำเสมอ เร็วเกินไป แรงเกินไป หรือช้าเกินไป อาจมีอาการใจหวิว ๆ ร่วมด้วย หรืออาจมีอาการเหมือนเสียววาบคล้ายกับตกจากที่สูง รวมทั้งมีอาการอื่น ๆ เช่น หายใจถี่ หายใจติดขัด เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ และหมดสติ ซึ่งอาการจะเป็นอย่างไรยังขึ้นอยู่กับต้นเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หากมีอาการที่กล่าวไปข้างต้น แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ และวางแผนการรักษาอย่างทันท่วงทีจะเป็นการดีที่สุด อย่ารอจนความผิดปกติลุกลามจนหัวใจได้รับความเสียหาย เพราะอาจยากที่จะแก้ไขได้

 

เช็กโรคและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการใจสั่น

อย่างที่กล่าวไปว่าอาการหัวใจเต้นผิดปกติเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยจะมีอยู่ 8 ประการด้วยกัน ดังนี้

 

1. ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

โดยอาการจะเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติ มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่รับประทานอาหารน้อยเกินไป และผู้ที่ออกกำลังกายมากเกินไป

 

2. มีไข้หรือมีการติดเชื้อบางอย่างในร่างกาย

เมื่อร่างกายมีไข้สูง ตั้งแต่ 38-41 องศาเซลเซียส หรือเกิดการติดเชื้อบางอย่าง ร่างกายจึงจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนรู้สึกใจหวิว ๆ ได้

 

3. การรับประทานยาบางชนิด

ยาบางชนิดก่อให้เกิดผลข้างเคียงและทำให้มีอาการใจสั่นได้เช่นกัน เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาแก้แพ้กลุ่มเทอร์เฟนาดีน ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาพ่นรักษาหอบหืดที่มีส่วนผสมของซาลบูทามอล

 

4. มีความเครียดและความวิตกกังวลสูง

ผู้ที่ตื่นเต้น มีความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวลมากผิดปกติ มักจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด เหงื่อออกเยอะ ตัวสั่น และรู้สึกเจ็บหน้าอกได้เช่นกัน

 

5. ไทรอยด์เป็นพิษ

หากมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์ทำงานหนักผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย ทำให้มีอาการมือสั่นและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

 

6. โครงสร้างหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีทั้งกลุ่มที่แสดงอาการตั้งแต่แรกเกิดและมีอาการตอนโตขึ้น เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เกิดจากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางชนิด ภาวะดาวน์ซินโดรม และการใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์

 

7. เป็นโรคหัวใจบางชนิด

โรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ และความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ ซึ่งต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์และรักษาที่ต้นเหตุ

 

8. มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีทั้งหัวใจเต้นเร็ว เต้นช้า และเต้นไม่สม่ำเสมอ ตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธี เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย การเอกซ์เรย์ทรวงอก การตรวจด้วยเครื่อง Echocardiogram ซึ่งภาวะนี้จะมาพร้อมความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายประการ ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจล้มเหลว

 

วิธีแก้อาการใจสั่นเบื้องต้น

หากคุณรู้สึกว่าตัวเองมีอาการใจสั่น แต่ไม่ใช่สาเหตุจากอาการข้างต้น สามารถรับมือด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ โดยการปรับพฤติกรรมเหล่านี้

 

  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ
  • หยุดสูบบุหรี่
  • หยุดใช้ยาที่มีสารกระตุ้น รวมถึงยาสมุนไพรและอาหารเสริม
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดและลดความวิตกกังวล เช่น เล่นโยคะ ออกกำลังกาย ฝึกทำสมาธิ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผงชูรส โซเดียม และสารไนเตรต
  • นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีแก้ไขเบื้องต้นเท่านั้น หากคุณตรวจพบความผิดปกติของหัวใจ แนะนำว่าให้เข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางจะเป็นการดีที่สุด โดยในทางการแพทย์ มีวิธีรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายวิธีด้วยกัน ทั้งการใช้ยา การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นหัวใจ การจี้กล้ามเนื้อหัวใจ และการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งการรักษาจะเป็นแนวทางไหนหรือใช้วิธีการใด ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก

 

มีอาการใจสั่น ใจหวิว ใจเต้นเร็ว สามารถเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดได้ที่ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาโดยอายุรแพทย์ชำนาญการด้านโรคหัวใจ ครบครันด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจให้กลับมาทำงานได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายเข้าพบแพทย์ได้ที่เบอร์ 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ