รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนเข้ารับการฝังยาคุมกำเนิด

17 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

การฝังยาคุมกำเนิด คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง ที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3-5 ปี มาดูกันว่า ก่อนเข้ารับการฝังยาคุม ต้องรู้อะไรบ้าง



ปัจจุบันนี้ การคุมกำเนิดมีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการกินยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การใส่ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงคุมกำเนิด รวมถึงการฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เป็นเวลานาน หากใครที่ยังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ และกำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุม บทความนี้รวมเรื่องที่ควรรู้ พร้อมสรุปข้อดีข้อเสียเอาไว้ให้ครบ ติดตามกันได้เลย

 

การฝังยาคุม คืออะไร?

การฝังยาคุมกำเนิด คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง โดยการฝังหลอดบรรจุฮอร์โมนขนาดเล็ก ที่มีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลงไปในชั้นผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนของแขนข้างที่ไม่ถนัด ซึ่งขั้นตอนการฝังยาคุมจะใช้เวลาเพียง 3-10 นาทีเท่านั้น

หลังจากทำการฝังแล้ว ฮอร์โมนจะค่อย ๆ ซึมออกมาจากแท่งยา และกระจายเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นฮอร์โมนจะเริ่มออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ รวมถึงทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้น ส่งผลให้เชื้ออสุจิเคลื่อนผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกได้ยาก และยังทำให้โพรงมดลูกบางลง จนไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน

 

ขั้นตอนการฝังยาคุม: ก่อนฝังยาคุมต้องเตรียมอะไรบ้าง?

สำหรับใครที่สนใจการฝังยาคุม ในขั้นตอนแรกจะต้องเริ่มจากการเข้าพบแพทย์เพื่อแจ้งความประสงค์ในการคุมกำเนิด จากนั้นแพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อหาความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อการฝังยาคุม เช่น ประวัติการมาของรอบเดือน, ประวัติการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ, ประวัติการเจ็บป่วยและโรคประจำตัว รวมถึงอาจขอให้มีการตรวจครรภ์ เพื่อดูว่ากำลังอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ เพราะยาที่ฝังจะมีผลในทันที

หลังจากผ่านการซักประวัติและตรวจการตั้งครรภ์เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการฝังยาคุมตามขั้นตอนดังนี้

 

  • ทำความสะอาดผิวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • ฉีดยาชาบริเวณใต้ท้องแขนที่จะทำการฝังยา
  • ใช้เข็มเปิดแผลที่บริเวณท้องแขน
  • สอดหลอดบรรจุฮอร์โมนเข้าไปในเข็มนำ
  • เมื่อหลอดเข้าไปใต้ผิวหนังเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะนำเข็มและแท่งยาออก จากนั้นจึงปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ และพันผ้าพันแผลทับอีกหนึ่งชั้น
  • หลังทำการฝัง แพทย์จะทำการจับบริเวณที่ฝัง เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของหลอดบรรจุฮอร์โมน

ตัวอย่างหลอดบรรจุฮอร์โมนสำหรับการฝังยาคุมกำเนิด

การฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอย่างไร?

เนื่องจากการฝังยาคุมคือการฝังฮอร์โมนเข้าไปในร่างกาย จึงอาจเกิดผลข้างเคียงดังนี้

 

  • ประจำเดือนมาผิดปกติในช่วงแรกหลังการฝัง
  • มีอารมณ์แปรปรวน
  • มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการปวดหรือเจ็บเต้านม
  • อาจมีปัญหาสิวรุนแรง หรือเกิดฝ้าขึ้นบนใบหน้า
  • มีอาการช่องคลอดแห้ง หรือช่องคลอดอักเสบ
  • บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฝังหลอดยา

 

โดยปกติแล้ว อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับจนหายไปได้เอง แต่หากใครที่รู้สึกถึงความผิดปกติ เช่น มีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน หรือ อาการรุนแรงจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยทันที

 

ฝังยาคุมอยู่ได้กี่ปี ควรฝังกี่ครั้ง?

การฝังยาคุมกำเนิด สามารถอยู่ได้นาน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ใช้ เมื่อครบ 3-5 ปี ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลง หากต้องการคุมกำเนิดต่อเนื่อง จะต้องไปพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาคุมหลอดเดิมออก และทำการฝังยาคุมหลอดใหม่

 

การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการฝังยาคุม

  • สามารถนำผ้าพันแผลออกได้หลังครบ 24 ชั่วโมง แต่ควรเหลือพลาสเตอร์ปิดแผลไว้
  • หลัง 3-5 วันจึงสามารถนำพลาสเตอร์ปิดแผลออกได้ โดยควรระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ
  • ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือ คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วัน
  • เมื่อครบ 7 วัน แพทย์จะนัดไปดูแผลและติดตามอาการอีกครั้ง

 

สรุปข้อดีข้อเสียของการฝังยาคุมที่ควรรู้

ข้อดีของการฝังยาคุม

 

  • เป็นการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง อัตราความล้มเหลวต่ำเพียง 0.1%
  • สะดวกกว่าการคุมกำเนิดด้วยการนับวันตกไข่ การกินยา หรือฉีดยา
  • สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 3-5 ปี
  • ไม่ส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์

 

ข้อเสียของการฝังยาคุม

 

  • อาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะแรก จนทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
  • ไม่สามารถหยุดใช้ได้ด้วยตัวเอง เพราะการนำหลอดยาออกต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น
  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

 

หากฝังยาคุมกำเนิดไปแล้ว เมื่อต้องการเลิกคุมกำเนิด ต้องทำอย่างไร?

หากต้องการเลิกคุมกำเนิด หรือต้องการเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นในการคุมกำเนิด สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อนำหลอดยาออกได้ทุกเมื่อที่ต้องการ จากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ กลับสู่ภาวะปกติ ภาวะตกไข่จะกลับมาภายใน 3 สัปดาห์ และสามารถตั้งครรภ์ได้

 

ปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดกับสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการ ที่แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

 

นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ