มีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยงโรคอะไรบ้าง ?

19 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม

มีอาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว อย่านิ่งนอนใจ ปล่อยไว้อาจเสี่ยงโรคร้ายหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคปอด และโรคเกี่ยวกับสมองและประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อ



เป็นธรรมดาที่เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นอวัยวะต่าง ๆ ย่อมเสื่อมลง ร่างกายก็เหนื่อยล้าและอ่อนเพลียได้ง่ายกว่าเดิม กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำได้แบบสบาย ๆ ก็กลายเป็นทำแล้วเหนื่อยเร็วผิดปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง การขึ้นบันได หรือการออกกำลังกาย แต่บางครั้ง อาการเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว อาจเป็นสัญญาณว่าชีวิตคุณกำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายก็เป็นได้

มีอาการเหล่านี้ร่วมกับเหนื่อยง่าย ควรไปพบแพทย์โดยด่วน

พูดถึงอาการเหนื่อยง่าย เชื่อว่าคนมีอายุส่วนใหญ่ต้องเคยเจอ ซึ่งอย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่า สุขภาพและร่างกายย่อมโรยราลงไปตามกาลเวลา แต่หากเกิดอาการเหนื่อยเร็วผิดปกติ อาจจะเป็นสัญญาณของโรคร้าย เพราะฉะนั้นจึงควรจับตาดูอาการเหล่านี้เป็นพิเศษ

1. หายใจผิดปกติ

อาการหายใจผิดปกติในที่นี้ ได้แก่ หายใจเร็ว หอบ มีเสียงดังเวลาหายใจ และรู้สึกหายใจไม่อิ่มหรือไม่เต็มปอด ซึ่งผู้ป่วยบางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถพูดหรือสื่อสารได้ รวมทั้งหมดสติเลยทีเดียว

2. หัวใจเต้นเร็ว

ภาวะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วผิดปกติ ก็เป็นสัญญาณความผิดปกติร้ายแรงได้เช่นกัน โดยทั่วไป หัวใจมนุษย์จะมีอัตราการเต้นอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที แต่หากกำลังเดินอยู่ ระดับการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 100-120 ครั้ง/นาที และจะขึ้นไปถึง 120 ครั้ง/นาที หากว่าเราออกวิ่ง

แต่ในกรณีที่ เรานั่งอยู่เฉย ๆ แล้วหัวใจเกิดเต้นเร็วเกิน 100 ไปจนถึง 150 ครั้ง/นาที หรือมีความรู้สึกว่าหัวใจเต้น ๆ หยุด ๆ จะถือว่ามีภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้

3. เจ็บหน้าอก

ปัญหาที่เกิดกับอวัยวะภายในทรวงอก ล้วนก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของคนที่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ จะมีอาการจุกแน่นบริเวณหน้าอก ลักษณะเหมือนหน้าอกถูกกดทับ รวมทั้งมีอาการเจ็บร้าวไปถึงแขนด้วย โดยอาการเสี่ยงที่มักพบบ่อย ๆ คือรู้สึกเจ็บหน้าอกขณะออกแรงทำงาน

4. ขาบวม

อาการขาบวมถือเป็นอาการที่คนส่วนใหญ่มองข้ามก็ว่าได้ เพราะคิดว่าเป็นความผิดปกติที่ขา แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจเกิดภาวะน้ำท่วมปวด โรคตับ หรือโรคไต จึงเกิดอาการขาบวมได้

5. หน้ามืด หมดสติ

สุดท้าย ถือเป็นอาการที่บ่งบอกว่าร่างกายอาจเข้าขั้นวิกฤต คือหน้ามืด เป็นลม วูบ และหมดสติ เพราะเป็นสัญญาณว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย อย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิด หากมีความผิดปกติข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์และทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยต้นเหตุของอาการและวางแผนการรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนโรคร้ายจะมาเยือน

 

เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยงโรคอะไรบ้าง ?

หากมีอาการเหนื่อยเร็วผิดปกติ ร่วมกับหัวใจเต้นเร็ว ในเบื้องต้น ร่างกายกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจาก 3 โรคด้วยกัน ได้แก่

1. โรคหัวใจ

หากเหนื่อยง่ายและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคน่าสงสัยอันดับแรกคงหนีไม่พ้นโรคหัวใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจโดยตรง และสามารถแบ่งแยกย่อยตามความผิดปกติลงไปอีกหลายชนิด ได้แก่

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • โรคลิ้นหัวใจ
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ

2. โรคปอด

อีกหนึ่งโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย คือโรคปอด ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งปอด สามารถตรวจพบได้ด้วยการเอกซเรย์และการตรวจสมรรถภาพปอด

3. โรคเกี่ยวกับสมอง

สุดท้าย เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคกล้ามเนื้อฝ่อ โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นความผิดปกติบริเวณสมองแต่ส่งผลถึงระบบหายใจ ควรตรวจอย่างละเอียดและรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองเท่านั้น

 

การตรวจหัวใจด้วยเครื่อง ECHO เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เหนื่อยง่าย

วิธีตรวจหัวใจเบื้องต้นที่ควรรู้

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยง่ายและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอกจากแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย แพทย์อาจมีการตรวจหัวใจเพิ่มเติม โดยเบื้องต้น นิยมใช้ 3 วิธีด้วยกัน

1. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)

ใช้ตรวจหาความผิดปกติของหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือดหรือไม่ โดยติดแผ่นขั้วไฟฟ้าลงบนหน้าอกผู้ป่วย แล้วให้ผู้ป่วยเดินบนสายพานออกกำลังและปรับความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเช็กอัตราการเต้นของหัวใจ และหยุดสายพานเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถเดินต่อไหว

2. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)

เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ความถี่ 3-12 MHz ส่งคลื่นเสียงไปยังหัวใจ แล้วประมวลผลกลับมาเป็นภาพ แสดงลักษณะทางกายภาพและการทำงานของหัวใจแบบเรียลไทม์ มองเห็นระบบไหลเวียนเลือด การทำงานของลิ้นหัวใจ และขนาดของหัวใจได้ชัดเจน ใช้วินิจฉัยโรคหัวใจหลายโรค เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

การตรวจ EKG หรือ Electrocardiography มักใช้คัดกรองโรคหัวใจเบื้องต้น เพราะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อหัวใจขณะหัวใจบีบตัว แล้วแสดงอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจในรูปแบบกราฟ โดยผู้ป่วยต้องติดอุปกรณ์บนหน้าอก 6 จุด และแขนขาอีก 4 จุด ถือเป็นวิธีที่ง่าย ไม่เจ็บ และใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น

หากรู้สึกร่างกายมีความผิดปกติ เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนเคย อย่านิ่งนอนใจจนชีวิตตกอยู่ในอันตราย ควรมาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้ชำนาญการที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลสินแพทย์ นครปฐม ศูนย์บริการด้านสุขภาพหัวใจที่ครบครันและทันสมัย ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่เบอร์ 034-271-999

เราพร้อมให้การรักษาโดยทีมแพทย์เฉพาะทางตลอด 24 ชั่วโมง

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ