รู้ทันสาเหตุและสังเกตสัญญาณเตือนของภาวะท้องนอกมดลูก

23 ก.ค. 2567 | เขียนโดย รพ. สินแพทย์ ลำลูกกา

สำหรับคู่แต่งงานที่พยายามมีลูก จนในที่สุดก็สามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ คงมีความรู้สึกอิ่มเอมใจอยู่ไม่น้อย แต่ต้องไม่ชะล่าใจและควรไปฝากครรภ์ให้เรียบร้อย รวมถึงควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญ ว่าที่คุณแม่ยังต้องหมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ เพราะสิ่งไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหนึ่งในนั้นก็คือภาวะท้องนอกมดลูก ที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์สูงมากเลยทีเดียว

 

บทความนี้ จะขอพาว่าที่คุณแม่ไปทำความรู้จักภาวะท้องนอกมดลูก พร้อมวิธีสังเกตอาการ รวมถึงแนวทางการรักษามาบอกกัน เพื่อให้การตั้งครรภ์ของคุณแม่สมบูรณ์และปลอดภัยมากที่สุด

 

รู้จักภาวะท้องนอกมดลูก

ท้องนอกมดลูก คือภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ โดยไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิมีการฝังตัวในบริเวณอื่นนอกโพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุด รวมถึงบริเวณปากมดลูก รังไข่ หรือในช่องท้อง ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า หากมีภาวะท้องนอกมดลูก จะมีอาการแพ้ท้องไหม หรือตรวจขึ้นกี่ขีด สำหรับภาวะนี้ ในระยะแรกที่ประจำเดือนเริ่มไม่มาประมาณ 1-2 เดือน หากนำปัสสาวะไปตรวจกับที่ตรวจครรภ์จะพบเป็น 2 ขีด ทั้งยังมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคัดบริเวณเต้านม หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อย เหมือนการตั้งครรภ์ทั่วไป แต่หลังจากผ่านไป 7 สัปดาห์จนถึง 2 เดือน จะเริ่มมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นต้องยุติการตั้งครรภ์ในที่สุด

 

สาเหตุของการท้องนอกมดลูก

  • ท่อนำไข่มีลักษณะผิดรูป

ทำให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและกลายเป็นตัวอ่อน เคลื่อนที่ไปไม่ถึงผนังมดลูก และฝังตัวบริเวณนอกโพรงมดลูกเสียก่อน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ท่อนำไข่ผิดปกติ มีดังนี้

    • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน พังผืดบริเวณปีกมดลูก
    • ท่อนำไข่ได้รับความเสียหายจากการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์
    • ท่อนำไข่ผิดรูปร่างมาตั้งแต่กำเนิด
    • มีเนื้องอกในท่อนำไข่
  • สูบบุหรี่
    สารนิโคตินในบุหรี่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรม (ยีนส์) ของเซลล์เยื่อบุท่อรังไข่ นำไปสู่ความผิดปกติทั้งโครงสร้างและการทำงาน ทำให้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว เดินทางไปไม่ถึงโพรงมดลูก กลายเป็นการท้องนอกมดลูกในที่สุด

  • ใช้ยาคุมฉุกเฉินหรือ คุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย
    • การใช้ยาคุมฉุกเฉินจะออกฤทธิ์ต่อสภาพแวดล้อมของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้เยื่อบุมดลูกมีความผิดปกติ และเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
    • การใช้ห่วงคุมกำเนิด ส่งผลต่อกลไกการปฏิสนธิ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เช่นกัน

 

สัญญาณเตือนภาวะท้องนอกมดลูก

หากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิไปฝังตัวในบริเวณอื่น ไม่ว่าจะเป็นท่อนำไข่ ปากมดลูก หรือในช่องท้อง ที่ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากไม่รีบรักษา ซึ่งสัญญาณเตือนของภาวะท้องนอกมดลูก จะมีดังนี้

 

  • ปวดบริเวณทวารหนัก
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • ปวดท้องน้อย อุ้งเชิงกราน และหลังส่วนล่าง
  • อ่อนแรง หน้ามืด เวียนศีรษะ มีภาวะช็อก

 

ท้องนอกมดลูกอันตราย ควรรีบได้รับการรักษา

กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูก

สำหรับคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ อาจมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

 

  • มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากอวัยวะในระบบสืบพันธุ์อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง
  • เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน
  • เป็นผู้มีบุตรยาก หรือมีภาวะไม่เจริญพันธุ์
  • มีรอยแผลจากการผ่าตัดท่อนำไข่ ผ่าตัดอุ้งเชิงกราน ผ่าตัดช่องท้อง หรือรักษาอาการเจ็บป่วยบริเวณท่อนำไข่มาก่อน
  • มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ จนทำให้เกิดแผลเป็น กีดขวางการเดินทางไปยังมดลูก ของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว
  • เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม จนทำให้เกิดการอักเสบในท่อนำไข่และอวัยวะอื่น ๆ บริเวณมดลูก ส่งผลให้เกิดการตีบตันในท่อนำไข่ จนไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว ไม่สามารถเดินทางไปฝังตัวยังโพรงมดลูกได้

 

การรักษาภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก

หลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก แพทย์จำเป็นต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยการนำตัวอ่อนออกมา ซึ่งมีวิธีในการรักษา ดังต่อไปนี้

 

การใช้ยา

เป็นการใช้ยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะบริเวณที่ฝังตัว ซึ่งควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และต้องมีการติดตามผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรต้องเว้นระยะของการตั้งครรภ์ออกไปก่อน

 

การผ่าตัด

เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือพิเศษ เพื่อนำตัวอ่อนที่ฝังตัวนอกมดลูกออกมา และหลังจากนั้นจะทำการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายให้กลับมาฟื้นฟูเป็นปกติ

 

การรักษาภาวะแทรกซ้อน

หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อกจากการเสียเลือดมาก จำเป็นต้องได้รับเลือดทดแทน หรือถ้ามีอาการอักเสบ ก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

 

การป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูก

ถึงแม้ว่าการตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นภาวะที่คาดเดาได้ยาก แต่ก็ยังมีวิธีป้องกัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังนี้

 

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพื่อลดโอกาสในการได้รับเชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางอนามัยเพื่อช่วยป้องกันโรค
  • รักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก และต้องคอยสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เพื่อจะได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที
  • วางแผนดูแลการตั้งครรภ์ตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ และหมั่นสังเกตอาการขณะตั้งครรภ์ รวมถึงปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สงสัยว่าตนเองมีภาวะท้องนอกมดลูก สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้ที่ แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา เรามีทีมแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมมอบการรักษาอย่างครอบคลุม

 

นัดหมายแพทย์ออนไลน์ หรือปรึกษาได้ที่ Call Center 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ