กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อันตรายต่อคนท้อง รู้ทันป้องกันได้

15 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

คนท้องติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อันตรายกว่าที่คิด ทั้งต่อตนเองและทารกในครรภ์ จะมีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไรบ้าง ตามไปหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้ได้เลย



หลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า การกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ จะส่งผลทำให้เกิดปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ แต่รู้ไหมว่าอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น หากเกิดกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งอาจรุนแรงทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด ไปจนถึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อในกระแสเลือดและถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อให้ห่างไกลจากอันตรายของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในคนท้อง เราจะพาไปรู้ถึงสาเหตุการเกิด แนวทางการป้องกัน รวมถึงวิธีการรักษา เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากมีภาวะนี้เกิดขึ้น

 

คนท้องติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้อย่างไร ?

ปกติแล้วผู้หญิงจะมีทางเดินปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียจากลำไส้ใหญ่เข้าไปยังบริเวณท่อปัสสาวะได้ง่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และยิ่งเสี่ยงมากขึ้นในช่วงของการตั้งครรภ์ โดยมีปัจจัยดังนี้

 

  • ความเปลี่ยนแปลงของสรีระในช่วงตั้งครรภ์ โดยมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น จะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะและท่อไต ส่งผลให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน จะทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของท่อไตเช่นกัน จึงทำให้ปัสสาวะมีโอกาสไหลย้อนกลับได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์
  • การไม่รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ

 

อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบของคนท้องเป็นอย่างไร ?

สำหรับคนท้องกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักมีอาการที่แสดงออกให้เห็นและสังเกตได้ ดังต่อไปนี้

 

  • รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย และไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
  • ปัสสาวะออกมาแบบกะปริดกะปรอย เหมือนปัสสาวะไม่สุด
  • เมื่อปัสสาวะแล้วพบว่า มีปริมาณมากขึ้นหรือน้อยลงผิดปกติ
  • รู้สึกแสบขัดขณะที่ปัสสาวะ
  • ปัสสาวะสีขุ่น และมีกลิ่นแรง มีเลือดหรือเมือกปน
  • รู้สึกท้องแข็ง รู้สึกเจ็บท้องบ่อย ๆ เหมือนจะคลอดลูก ทั้งที่ยังไม่ถึงระยะเวลากำหนดคลอด
  • แสบท้อง ปวดท้องน้อย กดแล้วรู้สึกเจ็บ ปวดหลังด้านล่าง
  • มีไข้สูง มีอาการหนาวสั่น ปวดบั้นเอวหลังด้านล่าง คลื่นไส้ อาเจียน

อย่างไรก็ตาม หากพบอาการบ่งชี้เหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมต่อไป

 

อันตรายของอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบสำหรับคนท้อง

คนท้องติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะมีอันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น การคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย รวมถึงถ้าหากมีการติดเชื้อรุนแรง อาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะไตล้มเหลวได้

 

ผู้หญิงกำลังดื่มน้ำเพื่อเป็นการป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบสำหรับคนท้อง

วิธีการรักษาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบของคนท้อง

หากพบว่ามีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ คนท้องสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ โดยต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยา เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ โดยควรรับประทานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

 

แนวทางการป้องกันอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบของคนท้อง

ในส่วนของแนวทางการป้องกันอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบของคนท้อง สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้

 

  • ทำความสะอาดช่องคลอดอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีค่าความเป็นกรด หรือด่างสูง รวมถึงน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
  • ห้ามสวนล้างช่องคลอดอย่างเด็ดขาด
  • ทำความสะอาดช่องคลอดทุกครั้ง หลังปัสสาวะเสร็จ
  • หลังถ่ายหนัก หากจำเป็นต้องใช้วิธีเช็ดเพื่อทำความสะอาด ควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระเข้าสู่ท่อไต
  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 1-2 ลิตรต่อวัน
  • ปัสสาวะบ่อย ๆ หรือลุกขึ้นไปปัสสาวะทันทีที่รู้สึกปวด ไม่ควรอั้นไว้
  • ไม่สวมกางเกงหรือกระโปรงที่รัดจนเกินไป
  • สวมกางเกงชั้นในที่เนื้อผ้าเบาสบาย เช่น ผ้าฝ้าย เพื่อการระบายอากาศได้ดี ลดความอับชื้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่จะก่อให้เกิดอาการอักเสบและระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ
  • รับประทานอาหาร ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เบตาแคโรทีน และสังกะสี ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย เพื่อช่วยในการต่อต้านการติดเชื้อได้

ทั้งหมดนี้คงทำให้เข้าใจกันแล้วว่า กระเพาะปัสสาวะอักเสบอันตรายสำหรับคนท้องแค่ไหน เพราะฉะนั้นหากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนคุณแม่ที่กำลังมองหาหมอสูตินรีเวช ในเมืองกาญ เพื่อฝากครรภ์หรือตรวจวินิจฉัยภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ ที่แผนกสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี ยินดีให้การดูแล

 

นัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาได้ที่ 034-912-888

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ