รู้จักอาการโคลิกในทารก และวิธีรับมือที่ถูกต้อง

26 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

ขอชวนคุณพ่อคุณแม่มือใหม่รู้จักกับโรคโคลิกหรือภาวะลูกร้องไห้ไม่หยุด ไม่ว่าจะพยายามปลอบโยนอย่างไรก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด แต่ควรรับมืออย่างไรดี รู้กันที่นี่



เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คน น่าจะต้องเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่ลูกน้อยร้องไห้อย่างหนักเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะพยายามปลอบโยนอย่างไรก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ยิ่งเห็นลูกน้อยร้องไห้มากเท่าไหร่ คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ยิ่งกังวลใจไปด้วย ในบทความนี้ ขอชวนมารู้จัก โรคโคลิกในเด็กทารก อาการที่ทำให้ลูกร้องไม่หยุด พร้อมวิธีรับมือที่ถูกต้อง

 

อาการโคลิกในเด็กที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้จัก

โคลิก (Colic) คือภาวะที่ลูกร้องไห้ไม่หยุดติดต่อกันเป็นเวลานาน มักเกิดขึ้นในเวลาเดิมของทุกวันอย่างไม่มีสาเหตุ และเกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายชั่วโมง โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นในช่วงบ่าย ลากยาวไปจนถึงเย็น หรือเกิดในช่วงหัวค่ำลากยาวไปถึงกลางดึก

 

ภาวะนี้จะเกิดในทารกที่สุขภาพปกติ อาจยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้มีอาการรุนแรง และร้องได้นานมากขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด และจะรุนแรงขึ้นในช่วง 4-8 สัปดาห์ ซึ่งอาการจะหายไปเองเมื่อทารกอายุประมาณ 3-4 เดือน

 

อาการโคลิก

  • ร้องไห้ ร้องกลั้น หรือกลั้นหายใจจนหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดง
  • กำมือแน่น
  • ขดขาขึ้นมาเหนือท้อง
  • ท้องแข็งและตึง
  • มีอาการผายลมบ่อย หรือไม่ผายลม

 

สาเหตุของอาการโคลิกในทารก

โคลิก เป็นภาวการณ์ปรับตัวของเด็ก เพราะเพิ่งคลอดออกมาจากท้องแม่ได้ไม่นาน จึงต้องใช้เวลากว่าจะคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม เช่น ปัจจัยเกี่ยวกับแก๊สที่อยู่ในลำไส้ ปัจจัยการย่อยนมไม่สมบูรณ์ มักเกิดขึ้นกับเด็กประมาณ 20% ทั่วโลก ซึ่งสาเหตุของโคลิกมีรายละเอียดดังนี้

 

  • การกลืนอากาศเข้าไปในท้องมากเกินไป ระหว่างกินนมแม่หรือระหว่างที่ร้องไห้
  • การแพ้อาหาร
  • การได้รับปริมาณอาหารมากหรือน้อยเกินไป
  • อาการปวดศีรษะ
  • มีปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ปฏิกิริยาทางอารมณ์ เช่น ความหงุดหงิด ความกลัว ความตื่นเต้น
  • ถูกเร้าจากภาวะแวดล้อม เช่น เสียงดัง แสงจ้า หรือกลิ่นบุหรี่
  • เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวลของคุณแม่

 

โคลิกอันตรายไหม ?

โคลิกเป็นภาวะที่ไม่อันตราย เมื่อเวลาผ่านไปอาการต่าง ๆ จะหายไปได้เอง แต่สิ่งที่ตามมาก็คือความกังวลที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้เป็นพ่อแม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ความเหนื่อยล้าและความเครียดได้

 

อาการโคลิกในทารก

 วิธีรับมือกับภาวะโคลิก

เนื่องจากสาเหตุของโรคโคลิกในทารกยังไม่ทราบแน่ชัด จึงไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความไม่สบายตัวของลูกน้อยลงได้ เพื่อให้อาการต่าง ๆ ทุเลาลง ดังนี้

 

  • สังเกตอาการหลังให้นมลูก เพื่อดูว่าลูกมีอาการแพ้อาหารหรือมีอาการไม่สบายตัวหรือไม่
  • คอยสังเกตอาการดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
  • ร้องเพลงกล่อมหรือเปิดเพลงเบา ๆ โดยเลือกเพลงที่มีจังหวะช้า ๆ จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายและง่วงนอน
  • งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปิดทีวี โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต เนื่องจากแสงสีและเสียงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจกระตุ้นให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นและร้องไห้ หรือนำอุปกรณ์เหล่านี้ออกไปเก็บในพื้นที่ให้ห่างจากทารก
  • เลือกใส่เสื้อผ้าให้สบายตัว เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ถ้าอยู่ในห้องที่อากาศเย็นแนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าที่เพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย
  • อุ้มโยกตัวไปมาในอ้อมแขนเบา ๆ ขณะทารกร้องกวน การสัมผัสและความอบอุ่นจากพ่อแม่จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย

 

ในระหว่างนี้ สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น อดทน ดูแล และคอยสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกเครียดหรือกังวล สามารถขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว เพื่อน หรือผู้เชี่ยวชาญ

 

เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบแพทย์

  • ร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน (นานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ หรือนานติดต่อกัน 3 สัปดาห์ขึ้นไป)
  • มีไข้
  • ร้องไห้พร้อมกับอาเจียนอย่างหนัก
  • ท้องเสีย ท้องผูก
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร ไม่ดูดนม ถ่ายเป็นสีดำ ถ่ายเป็นสีเลือด

 

อย่างไรก็ตาม หากทารกมีอาการร้องไห้ผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรพาทารกไปพบแพทย์ เพื่อช่วยหาสาเหตุ เพราะนอกจากอาการโคลิกแล้ว ทารกอาจมีอาการของโรคอื่น ๆ การได้รับการตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้องย่อมดีที่สุด

 

แม้ภาวะโคลิกจะไม่ใช่ภาวะที่อันตราย แต่เมื่อไรก็ตามที่การร้องไห้ของลูกมาพร้อมกับอาการผิดปกติทางร่างกาย ควรรีบพามาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่ โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ รามอินทรา โรงพยาบาลเด็กในกรุงเทพฯ ที่พร้อมดูแลรักษาโรคในเด็กอย่างใกล้ชิด โดยกุมารแพทย์เฉพาะทาง

 

นัดหมายออนไลน์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-793-50000

SHARE